บีโอไอดันไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยว - อิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดส่งเสริมการจัดมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ เพื่อกระตุ้นศักยภาพไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก พร้อมปรับปรุงประเภทกิจการอิเล็กทรอนิกส์ รองรับกระแสย้ายฐานผลิต และสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในประเทศไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุน ใน “กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ” เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) โดยการปลดล็อคอุปสรรคของการจัดงานขนาดใหญ่ เช่น เรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ของศิลปินและทีมงานต่างชาติ เรื่องภาระภาษีของอุปกรณ์จัดการแสดงที่อาจนำเข้ามาใช้เพียงชั่วคราว แล้วส่งกลับออกไป เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงานระดับโลก ให้สามารถเข้ามาจัดงานแสดงในประเทศไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมคอนเสิร์ต หรืองานเทศกาลนานาชาติต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยดึงดูด การท่องเที่ยวและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล
สำหรับหลักเกณฑ์การขอรับการส่งเสริมในกิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติจะต้องเป็นงานมหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการจัดงานไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่องาน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน พร้อมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับศิลปินและบุคลากรต่างชาติที่เข้ามาจัดงาน ผ่านศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service) ที่บีโอไอดำเนินการร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน
“จากที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือการยกระดับประเทศไทยให้เป็นแหล่งจัดงานใหญ่ระดับโลก เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก การเปิดให้ การส่งเสริมกิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติครั้งนี้ จะช่วยตอกย้ำศักยภาพและ ความพร้อมของประเทศไทยที่จะเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวและศูนย์กลางด้านความบันเทิงของภูมิภาค ดึงเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของผู้ร่วมงานทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีอำนาจใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังช่วยหนุนธุรกิจบริการอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร สินค้าท้องถิ่น และบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้ได้รับประโยชน์ไปด้วยกัน” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุง “กิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB)” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล เพื่อรองรับกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จากแรงกดดันของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มเติมบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม ในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ PCB ได้แก่ กิจการสนับสนุนการผลิต PCB ได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing กิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCB ได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg และกิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board เป็นต้น โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ ที่นำมาผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี โดยจำแนกตามความสำคัญของวัตถุดิบ เทคโนโลยี และขนาดการลงทุน
ทั้งนี้ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เป็นแผงวงจรที่รวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ เซมิคอนดักเตอร์ (Chip) เข้าด้วยกัน เพื่อเชื่อมการทำงานของชิ้นส่วนและควบคุมระบบต่าง ๆ ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทุกชนิด ถือเป็นขั้นตอนการผลิตที่มีความสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่ง ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมามีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB แล้วประมาณ 40 บริษัท โดยเฉพาะจากประเทศจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น โดยในปี 2566 มีมูลค่าลงทุนรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาท
“การปรับปรุงกิจการในกลุ่มแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์หรือ PCB ครั้งนี้ มุ่งรองรับกระแสการโยกย้าย เงินลงทุนครั้งใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มเติมการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB ให้ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้างคลัสเตอร์ PCB ให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเติบโตไปพร้อมกันด้วย ปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นมาเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน หากไทยสามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างซัพพลายเชนของการผลิต PCB ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลกได้ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว