BOI ชูยุทธศาสตร์ ผูกซัพพลายเชนกับสหรัฐฯ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นพันธมิตรดึงดูด 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส.อ.ท. ชี้ ไทยยังมีหวัง! แนะไม่จำเป็นต้องลดภาษีทุกอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนาม
วันที่ 14 ก.ค. 2568 นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลม ‘กรุงเทพธุรกิจ Roundtable: The Art of (Re) Deal’ ถึงแนวทางการรับมือและดึงดูดการลงทุน หลังสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งประเทศไทยถูกกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ที่ 36% และยังอยู่ระหว่างการเจรจาว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุน
นอกเหนือจากอัตราภาษีตอบโต้ ยังมีภาษีนำผ่านสินค้า (Transshipment) ภาษีรายสินค้าตามมาตรา 232 เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศแล้วในอะลูมิเนียม ทองแดง รถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้น รวมถึงคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ปัจจุบันได้รับการยกเว้นและในอนาคตอาจไม่แน่นอน
อย่างไรก็ดี อัตราภาษีมาตรา 232 นี้เท่ากันทุกประเทศ ทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ แต่เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้บางบริษัทอาจพิจารณาไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐฯ ที่มีอัตราภาษี 0%
อีกทั้งยังมีเรื่องการจำกัดการส่งออกชิป AI ซึ่งไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านภาษีไม่ใช่เครื่องตัดสินเพียงหนึ่งเดียวในการลงทุน ยังมีอีกหลายปัจจัยที่นักลงทุนพิจารณา
เพิ่ม ‘เครดิตภาษี’ บรรเทาผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ Global Minimum Tax ที่ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม ที่เก็บภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น BOI จึงเตรียมแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่ม ‘เครดิตภาษี’ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ
นฤตม์ย้ำว่า ทิศทางการลงทุนของไทยจากนี้จะต้อง ‘ผูก Supply Chain กับสหรัฐฯ ให้มากขึ้น’ ทั้งการลงทุนสหรัฐฯ ในไทยและการลงทุนไทยในสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ทำให้ไทยเป็นพันธมิตรใน Supply Chain ของสหรัฐฯ’ ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และด้านดิจิทัล เพื่อให้สหรัฐฯ มองไทยเป็นฐานในการขยายตลาดเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลงทุนในไทย 135 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 150,000 ล้านบาท และหากรวมบริษัทสหรัฐฯ ที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์จะมากกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ยานยนต์ และอาหาร
ข้อมูลอ้างอิง คลิก