ชูจุดแข็ง ประเทศมั่งคง ปลอดภัย เหมาะลงทุน 5 อุตสาหกรรมใหม่ เผย อเมริกา-จีน เลือกลงทุนไทยเพิ่มขึ้น เตรียมดัน SME ไทยเป็นซัพพลายเชนให้บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าว ในงาน ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ซึ่งจัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า ขณะนี้มี 3 G ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุน ได้แก่ Geopolitics ภูมิรัฐศาสตร์ , Green Transformation เป้าหมายในการเป็น Net Zero ที่ทุกบริษัทต้องวางแผนการผลิตตอบโจทย์เรื่องกรีน และ Global minimum tax ซึ่งเป็นกติกาใหม่ของโลก ตามเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
มาตรการนี้จะบังคับให้บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเมื่อประเทศต่างๆเริ่มใช้มาตรการภาษีนี้ก็เท่ากับมาตรการเรื่องภาษีที่จะเอามาใช้ในการดึงดูดการลงทุนจะมีความสำคัญลดน้อยลงไป เครื่องมือทางด้านการเงินจะมีความสำคัญมากขึ้นแทน โดยมาตรการทางการเงินที่จะใช้ต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การพัฒนาทักษะ และฝีมือแรงงาน เรื่องการวิจัยและพัฒนา เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิต
ต่างชาติหันมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย กลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุน โดยมีความได้เปรียบทั้งเรื่อง โครงสร้างพื้นฐาน มีดาต้า เซ็นเตอร์ มีเครือข่าย 5G ครอบคลุมมากที่สุด มีความมั่นคง ปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ รวมถึงแผนด้านนโยบายการใช้พลังงานสะอาด
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย สามารถดึงดูด การลงทุน และบุคลากรได้ โดยการลงทุนสามารถยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิม และ สร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย
1.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทิศทางยังคงขยายตัวต่อเนื่องซึ่งไม่ใช่แค่การประกอบรถอย่างเดียวแต่มีเรื่องของการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆของ EV
2.อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง รวมทั้งแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่มีการลงทุนอย่างมากในปีนี้ นอกจากนี้ประเทศไทยจะมีการก่อตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ขึ้นมาเร็วๆนี้เพื่อให้มีการผลักดันนโยบาย ทำโรดแมปเพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
3.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเห็นได้จากอุตสาหกรรมดาต้า เซ็นเตอร์ ที่มีการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย ซึ่งภายหลังจากที่กูเกิลประกาศแผนลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ในไทยเรียบร้อยแล้วโดยมีการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาทในเฟสแรก ก็จะยังมีบริษัทใหญ่อีกหลายรายที่พูดคุยกับบีโอไอซึ่งคาดว่าจะประกาศตัวเลขการลงทุนได้เร็วๆนี้
4.อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากความถนัดและศักยภาพของประเทศไทย
5.อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในขณะนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องการไฟฟ้าที่มาจากแห่งผลิตที่เป็น “พลังงานสะอาด” ซึ่งจะเป็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการวางแผนในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากพลังงานจากพลังงานสะอาดมากขึ้นอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นจากโซลาร์เซลล์ พลังงานไฟฟ้าจากลม รวมทั้ง Bio-Mass
ขณะเรื่องของบุคลากร ตัวเลขในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ต่างประเทศลงทุนด้านบุคลากร จำนวน 5,172 คน ซึ่ง 3 ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุดได้แก่ ยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น อีกเรื่องที่ตอกย้ำความเป็นเซฟโซนของประเทศไทยคือ แม้ทั้งอเมริกา และ จีน มีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่กลับพบว่าทั้ง 2 ประเทศลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยอเมริกาลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 70% ขณะที่จีนลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 2 เท่า
ทำอย่างไรให้ซัพพลายเชน SME ไทย เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การลงทุนของต่างชาติได้ ซึ่งบีโอไอ ก็มีมาตรการในการสนับสนุนโดยเฉพาะซัพพลายเชนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์