ประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งบีโอไอเป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และดึงการลงทุน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบีโอไอได้ออกสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ เพื่อดึงการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สถานีชาร์จ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดมีความคืบหน้าการลงทุนอย่างไรนั้น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เพื่อฉายภาพให้เห็นกันชัด ๆ
นายนฤตม์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จในการช่วงชิงความเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค จากสถิติการให้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (BEV, PHEV, HEV) ณ เดือนเมษายน 2567 ได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว 26 โครงการ จาก 19 บริษัท มูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท
ทั้งนี้มีค่ายรถ EV ที่ได้รับการส่งเสริมจะเริ่มผลิตในปี 2567 อาทิ Great Wall Motor, NETA, MG, BYD และ GAC-Aion เป็นต้น และที่จะเริ่มผลิตในปี 2568 เช่น Changan, Chery เป็นต้น
แบตเตอรี่แข่งลงทุน 2.5 หมื่นล้าน
ในส่วนของแบตเตอรี่ หัวใจสำคัญของรถ EV สถิติ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 มีโครงการผลิตแบตเตอรี่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมแล้วจำนวน 41 โครงการ เงินลงทุน 25,638 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กิจการผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับส่งเสริมนี้เป็นการผลิตแบตเตอรี่ระดับกลาง-ปลายนํ้า ได้แก่ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับ Module ซึ่งเป็นการนำเซลล์แบตเตอรี่มาเชื่อมต่อ พร้อมกับประกอบกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น ระบบระบายความร้อน ระบบความปลอดภัย เป็นต้น หรือในระดับ Pack ซึ่งเป็นการนำ Module มาประกอบเข้าด้วยกันพร้อมระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมกำลังไฟฟ้า เพื่อให้พร้อมนำไปใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ เท่านั้น
โดยประเทศไทยยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นนํ้าสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และยังเป็นกิจการที่กระจุกตัวอยู่ในประเทศเจ้าของเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการผลิตแบตเตอระดับเซลล์จึงถือเป็นข้อต่อสำคัญในการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
2 ยักษ์แบตฯจีนจ่อลงทุน 3 หมื่นล้าน
ล่าสุดระหว่างวันที่ 7-10 เมษายนที่ผ่านมาบีโอไอได้จัดโรดโชว์ดึงการลงทุนที่จีน โดยได้พบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานที่บีโอไอเพิ่งออกมาเร็ว ๆ นี้ ในปีนี้คาดจะมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 รายของจีนจะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยจะมีมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาท
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของจีนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก เนื่องจากเป็นเจ้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและถูกใช้ในวงกว้างที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันบริษัทจีนครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 50% ของตลาดแบตเตอรี่ทั่วโลก ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด คือ CATL ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 36.8%
นอกจากนี้ บริษัทจีนรายอื่นอย่าง CALB, Gotion, Eve Energy, Sunwoda ยังอยู่ใน Top 10 ของโลกด้วย โดยบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย ล้วนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน และยังมีเครือข่ายระดับโลก โดยผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่ายอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น
5 พลังหนุนช่วงเปลี่ยนผ่าน รถสันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ของไทยสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อผลักดันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตที่ใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลโดยบีโอไอและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันภายใต้บอร์ด EV เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าไปมีส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม EV ผ่านหลายมาตรการได้แก่
1.การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 มีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ เป็นต้น ในกรอบเวลาที่กรมสรรพสามิตกำหนด
2.การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี (Free Zone) ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของชิ้นส่วนทั้งหมดด้วย
3.ในการขอรับการส่งเสริมเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า บีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีหุ้นไทยข้างมาก (Local Supplier) โดยการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรม EV ต่อไป
4.บีโอไอได้ออก “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์” ในจังหวะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ มาตรการนี้จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทผลิตรถยนต์ทั้ง ICE, HEV, PHEV นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไป
5.การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยบีโอไอได้ทำงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมยานยนต์ และบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดกิจกรรมเพื่อผลักดันในเรื่องนี้ เช่น กิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Day) กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศเข้าไปมีบทบาทในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ข้อมูลอ้างอิงจาก : https://www.thansettakij.com/business/economy/594461