Search

  • Australia
  • Thursday , Feb 1 , 2018

IC Customer Support (66) 0 2666 9449 (20 คู่สาย) l csu@ic.or.th l กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน 098 553 0447

ข่าวสารจาก BOI

“วิทยาศาสตร์” และ “นวัตกรรม” กำลังจะพลิกโฉมอุตสาหกรรมความงามของโลก

วันพุธ, 26 กรกฎาคม 2566 13:10 734

จากการคาดการณ์ของ Statista ระบุว่าในปี 2027 รายได้ในอุตสาหกรรมความงามจะทะยานสูงถึง 101 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความงามเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง
ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นต้องมีความเข้าใจเทรนด์ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีผลต่ออุตสาหกรรมความงาม

แล้วนวัตกรรมไหนบ้าง ? ที่จะเป็นตัวกำหนดเทรนด์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมความงาม

Trend 1 : นวัตกรรมจาก AI & AR ที่สร้างประสบการณ์แตกต่างเฉพาะตัว
ผลสำรวจของ McKinsey ระบุว่า 71% ของผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการประสบการณ์ที่ถูกสร้างเฉพาะบุคคล ทำให้หลายบริษัทเริ่มนำเทคโนโลยี AI และ AR มาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดสินค้าที่มีความเฉพาะเหมาะสำหรับแต่ละบุคคล
เช่นในกรณีของ JCPenney ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกชื่อดังของสหรัฐฯ ที่ใช้ AI ในการให้คำปรึกษาเรื่องผิวพรรณแก่ลูกค้า และ ใช้ AR ในการเปิดประสบการณ์ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์แต่งหน้าในรูปแบบเสมือนจริงให้กับลูกค้า
ด้าน L’Oréal ได้จับมือกับ Prinker ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างนวัตกรรมสักลายที่เหมือนเครื่องพิมพ์ขนาดพกพา เพื่อเปิดตัว 'Brow Magic' เครื่องออกแบบทรงคิ้วอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี Modiface AR มาช่วยออกแบบการเขียนคิ้วให้เหมาะสมกับรูปหน้าของผู้ใช้งาน
โดยเริ่มจากการสแกนใบหน้าผ่านแอปพลิเคชัน จากนั้นจึงเลือกรูปทรง ความหนา และเฉดสีคิ้วที่ตนต้องการ ซึ่งเทรนด์นี้เองชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยี AI และ AR กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคลให้กับผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ

Trend 2 : นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อความยั่งยืน
ปัจจุบันความยั่งยืนกลายมาเป็นกระแสหลักในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ในอุตสาหกรรมความงาม ที่ผู้บริโภคหลายคนหันมาให้ความสนใจกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติ ไร้ส่วนผสมของสารเคมีที่มีแนวโน้มทำลายสิ่งแวดล้อม
“เทคโนโลยีชีวภาพ” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมความงามให้ก้าวไปอีกขั้น โดยมาช่วยพัฒนาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจากการใช้วิธีสกัดสารจากวัตถุดิบธรรมชาติด้วยกระบวนการทางชีวภาพ จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการมีกระบวนการผลิตที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนที่รับผิดชอบทั้งต่อโลกและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน
ตัวอย่างที่มีให้เห็น เช่น การนำสารสกัดจากแพลงตอนทะเลซึ่งมีคุณสมบัติในการฟื้นฟูผิวมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของ Biotherm หรือ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Evolved By Nature ที่ช่วยปกป้องและรักษาความชุ่มชื้นสำหรับผิวด้วยกระบวนการแยก Peptide จากโปรตีนไหม ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มาจากเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อทดแทนวัตถุดิบจากสารเคมี หรือสิ่งที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยกระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมความงาม
หรือจะเป็น ลอรีอัล กรุ๊ป ที่ร่วมทุนกับจีโน (Geno) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อคิดค้นส่วนผสมทางเลือกที่ได้จากชีวภาพ เช่น สารสกัดจากน้ำตาลที่ผลิตจากพืช ส่วนประกอบเหล่านี้จะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของลอรีอัล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการใช้สูตรที่ออกแบบมาเพื่อสิ่งแวดล้อม 100%

Trend 3 : นวัตกรรมที่มุ่งเน้นความหลากหลาย
“ความแตกต่างในสีผิวที่มีหลากหลายสื่อถึงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล” สะท้อนผ่านตัวอย่างผลงานการพัฒนาเครื่อง Authentic Color Master ภายใต้แบรนด์ TONEWORK แบรนด์เครื่องสำอางสัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับ Sulwhasoo และ Laneige
โดยเป็นการทำงานของ AI ระหว่างการจดจำใบหน้าและการวิเคราะห์สีผิวที่มีอัลกอริทึมที่สามารถวิเคราะห์และให้คำแนะนำโทนและเฉดสีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผิวของแต่ละบุคคลได้ เพื่อให้สามารถแต่งหน้าที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพได้อย่างมั่นใจ

ในปี 2023 Authentic Color Master ได้รับรางวัล CES Innovation ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนวัตกรรมที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดย Authentic Color Master สามารถสร้าง Make Up ได้ง่ายในเครื่องเดียวจบ และยังสามารถสร้างเฉดสีได้มากถึง 220,000 สี ปัจจุบันมีเครื่อง Authentic Color Master ให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

Trend 4 : นวัตกรรมที่เชื่อมโยงการมีสุขภาพดี
ความงามที่เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพกายเป็นอีกหนึ่งกระแสหลักที่ผู้คนให้ความสนใจ โดยผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการนั้นกลายเป็นที่ปรารถนาของผู้บริโภคมากขึ้นทุกวัน จากผลสำรวจ Food& Health ในสหรัฐ พบว่า 31% ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคิดว่าการเลือกรับประทานอาหารสูตรเฉพาะที่เหมาะสมกับตัวเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

ตัวอย่างที่พบเห็นได้คือ Neutrogena ที่เปิดตัวเยลลี่กัมมี่จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในชื่อว่า “SkinStacks” ซึ่งเป็นขนมวิตามินหลากสีสันที่ถูกผลิตมาเป็นอาหารเสริมเฉพาะสูตรที่ช่วยบำรุงผิวให้เฉพาะคน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละบุคคล โดยผู้บริโภคจะต้องสแกนใบหน้าผ่านแอปพลิเคชัน Neutrogena Skin360 เพื่อวิเคราะห์สภาพผิว และตอบคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการและเป้าหมายในการดูแลสุขภาพผิว
เพื่อให้ระบบคำนวณสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุดของสารประกอบในเยลลี่ อาทิ สังกะสี หรือวิตามิน C ให้กับผู้บริโภคแต่ละคน ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวอย่างแท้จริง โดยผู้ที่เป็นมังสวิรัติ (vegan) และผู้ที่ไม่บริโภคน้ำตาลก็สามารถรับประทานได้ รวมทั้งยังสามารถเลือกรสชาติของเยลลี่ได้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม
นวัตกรรมที่ใช้ในอุตสาหกรรมความงามทั้ง 4 เทรนด์นี้ ล้วนเป็นวิถีชีวิตแบบ “Self-Care” ของผู้คนยุคใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจสายสุขภาพและความงามที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน

สำหรับบีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และความงาม (Health & Beauty) ที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาต่อยอดและประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) สิ่งปรุงแต่งอาหาร (Food Ingredient) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement) กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต (Future Food) กิจการผลิตสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ตลอดจนกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพและความงาม

Beauty Tech ถือได้ว่าเป็นคลื่นระลอกใหม่ของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมความงาม โดยมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในเกมการแข่งขัน จึงนับเป็นการเปิดพื้นที่แห่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับกิจการที่เชื่อมโยง หรือ เป็นการมองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งบีโอไอก็มีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการและนักลงทุน โดยท่านที่สนใจสามารถมาติดต่อขอรับคำปรึกษาจากบีโอไอได้ เพื่อประเมินว่ากิจการของท่านจะได้รับการส่งเสริมในประเภทใด เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าและเหมาะสมที่สุด

ปฏิทินฝึกอบรม

IC Knowledge Management

เลขที่ 1 อาคารทีพีแอนด์ที ชั้น 12 ถนน วิภาวดีรังสิต
แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

(66) 0 2666 9449
< Customer Support Unit: CSU กด 1  อีเมล csu@ic.or.th
    - ให้คำปรึกษาด้านการใช้งานระบบ eMT กด 1 > กด 1 
    - ให้คำปรึกษาด้านการใช้งานระบบ RMTS กด 1 > กด 2 
< ติดตามเอกสารงานเครื่องจักรและวัตถุดิบ กด 2
    - ยื่นรายการวัตถุดิบ, สูตรการผลิต, โอนสูตร, ปรับยอดวัตถุดิบด้วยเอกสาร
    - ขอ username/password ic online, eMT online
    - ขอตัดบัญชีวัตถุดิบ, ยกเลิกการตัดบัญชีวัตถุุดิบ
      สำนักงานกรุงเทพ กด 2 > กด 1 สาขาชลบุรี กด 2 > กด 2 
      สาขานครราชสีมา กด 2 > กด 3 สาขาเชียงใหม่ กด 2 > กด 4
      สาขาขอนแก่น กด 2 > กด 5 สาขาสงขลา กด 2 > กด 6
< บริการสมาชิกและผู้ใช้บริการ กด 3
   - สมัครสมาชิกและผู้ใช้บริการ อีเมล cus_service@ic.or.th
   - บริการฝึกอบรม อีเมล icis@ic.or.th
   - บริการ Counter Service
      - บริการคีย์ข้อมูลเครื่องจักร วัตถุดิบและช่างฝีมือ: counterservice@ic.or.th
      - บริการยื่นไฟล์งานวัตถุดิบ: bis_center@ic.or.th
      - บริการขอข้อมูลเครื่องจักรและวัตถุดิบ: bis_center@ic.or.th
< ด้านการชำระเงิน กด 4 อีเมล finance@ic.or.th

"มั่นใจเมื่อใช้ IC"

    

 Copyright 2019 Investor Club Association About us All rights reserved.

logo

EasyCookieInfo

☰ open
© 2018 Your Company. All Rights Reserved. Designed By Your Company

Search