สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยและสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง ย้ำจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า (Thailand Electronics Circuit Asia: THECA) เพื่อประกาศศักยภาพและความก้าวหน้าในการเป็นฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนและของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งมั่นพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี ระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของโลก ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) เนื่องจากศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรทักษะสูง และห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายของการลงทุน
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้กว่า 535,000 ล้านบาท เฉพาะในปี 2566 มีมูลค่าคำขอสูงถึง 334,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด
หากพิจารณาเฉพาะกลุ่ม PCB และ PCBA จะเห็นว่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 15,600 ล้านบาท ในปี 2564 และ 15,900 ล้านบาท ในปี 2565 เพิ่มเป็น 100,860 ล้านบาท ในปี 2566 และยังเติบโตต่อเนื่องใน ปี 2567 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริม PCB และ PCBA จำนวน 27 โครงการ มูลค่ารวม 36,044 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
ขณะนี้จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญของการสร้างฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง PCB และ PCBA ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน บีโอไอจึงได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม PCB แบบครบวงจร ครอบคลุมทั้ง Supply Chain รวมถึงการผนึกกำลังกับภาคเอกชน เพื่อสร้างการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับบริษัทผู้ผลิต PCB เหล่านี้ด้วย
งาน THECA ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับการพบปะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในอุตสาหกรรม PCB เกิดการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการและการเจรจาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การซื้อขายชิ้นส่วน การว่าจ้างผลิตและบริการ รวมถึงการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติ โดยบีโอไอจัดให้มีกิจกรรม Business Matching ซึ่งคาดว่าจะมีการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 1,000 คู่ และมีมูลค่าซื้อขายที่จะเกิดขึ้นกว่า 20,000 ล้านบาท โดยงานนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรม PCB ไทย รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องการใช้ PCB ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของภูมิภาคสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านนายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย นายพิธาน องค์โฆษิต กล่าวสนับสนุนว่า “การได้รับสนับสนุนจากบีโอไอ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจ ปัจจุบัน แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีส่วนแบ่งการตลาด หรือ Market Share อยู่ที่ประมาณ 4% แต่หากมีการเปิดโรงงานจากผู้ลงทุนในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI อีก 50 โรงงาน จะทำให้ Market Share ของไทยเติบโตได้ถึง 10% เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลดีหลายด้านต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างอาชีพและการจ้างงานภายในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น 50,000-80,000 ตำแหน่งงาน เฉพาะภาคอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์”
ตลาด PCB ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท (86.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2026 โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.3% HDI PCBs มีอัตราการเติบโตสูงถึง 11.1% เนื่องจากมีขนาดเล็ก ประสิทธิภาพสูง และน้ำหนักเบา รวมทั้ง Flexible PCBs ก็กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสินค้าเทคโนโลยีสวมใส่และอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยคาดว่าตลาดจะมีมูลค่า 5.3 แสนล้านบาท (15.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2026
นายเสวก ประกิจฤทธานนท์ อุปนายกและเลขานุการสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย จึงได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโส และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ มีอยู่ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย จัดตั้ง “ศูนย์แผ่นวงจรอิเล็กทรอกนิกส์ไทย” (Thailand Electronics Circuit Center) มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) การเสริมสร้างโซ่อุปทานในประเทศ (Local Supply Chain) การผลิตต้นแบบแผงวงจรพิมพ์ (PCB Prototype) การพัฒนาบุคลากรและพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย
นายภูธนา ดาวเรือง ผู้จัดการทั่วไป สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย สรุปไฮไลท์การจัดงาน เทกก้า ว่า “เป็นงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่การเจรจาธุรกิจการค้า การแสดงนวัตกรรมทันสมัยจาก 200 บริษัทชั้นนำ การประชุมสัมมนานานาชาติมากกว่า 20 หัวข้อ เพื่อให้คนที่อยู่ในวงการ หรือที่อยากเข้ามาในวงการ หรือนักธุรกิจที่สนใจได้มา Upskill และ Reskill พัฒนาทักษะใหม่ๆ และการปรับปรุงทักษะที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัย จนไปถึงเป็นเวทีพบปะ จัดหางาน ระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่กำลังหางานกับเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั่วโลก เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอื่นๆ คาดว่าจะดึงดูดผู้เข้าชมงานจากทั่วโลกกว่า 3,000 ราย
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ) กล่าวถึงความสำคัญของงาน เทกก้า ต่ออุตสาหกรรมไมซ์ ว่า “เป็นงานแสดงสินค้าและบริการอุตสาหกรรมต้นน้ำด้านเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของทีเส็บ ได้แก่ ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Soft Power) นวัตกรรมทางด้านสุขภาพ (Health-Tech Innovation) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Urban QOL & Mobility) โดยการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในงานนี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถแสดงศักยภาพและสร้างความเชื่อมั่นในฐานะจุดหมายปลายทางมูลค่าสูงแห่งเอเชีย (High Value-Added Destination) ได้อย่างดีที่สุด”
นายแคนิส ชุง นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง กล่าวสรุปว่า “ผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB และ PCBA) ทั่วโลก ล่าสุดให้ความสนใจและเชื่อมั่นในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก PCB และ PCBA เป็นส่วนสำคัญสำหรับวัสดุพื้นฐานและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งเป็นแกนหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่กำหนดอนาคตของโลก โดยมีผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ออโรเม็กซ์ จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยนายยงยุทธ ภักตร์ดวงจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล รวมทั้งยังมีบริษัทและสมาคมอุตสาหกรรมชั้นนำจากต่างประเทศ ยืนยันเข้าร่วมจัดงานแล้ว ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเนเธอร์แลนด์
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ล่วงหน้าที่ www.thailandelectronicscircuitasia.com
หรือ www.facebook.com/thailandelectronicscircuitasia
แล้วพบกัน วันที่ 24 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 - 18.00 น. อาคาร EH101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ