ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles - HEV) กำลังกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการก้าวไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในอนาคต แต่ยังต้องการความยืดหยุ่นในการใช้งาน HEV นั้นไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่จะนำพาผู้บริโภคเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ตามผลสำรวจจาก Deloitte ความสนใจในรถยนต์ไฮบริด (HEV) ของคนไทยพุ่งแรง จากเดิมเพียง 10% ตอนนี้พุ่งสูงถึง 19% นี่เป็นสัญญาณว่ารถยนต์ประเภทนี้กำลังเป็นที่ต้องการ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจูงใจจากรัฐบาลและการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
ไฮบริด : ทางเลือกที่กำลังมาแรงสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV
ยานยนต์ไฮบริด ถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้สัมผัสประสบการณ์การขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการชาร์จ ด้วยการผสานพลังระหว่างเครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้า HEV มอบความยืดหยุ่นในการใช้งานที่หลากหลายไม่ว่าจะในเมืองหรือนอกเมือง ทำให้การปรับตัวสู่พลังงานไฟฟ้าเป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม ความนิยมในไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสาเหตุหลัก คือ ค่ายรถยนต์หลายแห่งได้เสนอรถยนต์ในกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่น มีไฮบริดเกือบทุกรุ่นให้เลือก ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย
รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่กับมาตรการสนับสนุน HEV จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จในหลายด้าน
- การลงทุนในประเทศ : การลงทุนต่อเนื่อง 50,000 ล้านบาท ใน 4 ปีข้างหน้า
- เพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ : ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศไทย
- เสริมฐานผู้ผลิตไทย : รักษาและต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
- ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ระดับโลก : ตอกย้ำความแข็งแกร่งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทแบบครบวงจรในระดับโลก
ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับรถยนต์ ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร อยู่ที่ 8% และ สำหรับรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอน 101-120 กรัมต่อกิโลเมตร อยู่ที่16% (จนถึง 31 ธันวาคม 2568) โดยล่าสุดบอร์ด EV ได้ประกาศมาตรการใหม่เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV ปรับลดภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ระหว่างปี 2571-2575 (จากเดิมที่ภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี) ดังนี้
ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
- การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6
- การปล่อย CO2 101 – 120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
โดยบริษัทที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ จะต้องดำเนินการตาม 4 เงื่อนไขสำคัญ
- การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) : รถยนต์ต้องปล่อย CO2 ไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร โดยมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่แตกต่างกันตามระดับการปล่อย CO2
- การลงทุนเพิ่มเติม : บริษัทผู้ผลิตจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทยระหว่างปี 2567-2570 อย่างน้อย 3,000 ล้านบาท
- การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ : ต้องใช้แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ที่ผลิตในประเทศตามมูลค่าการลงทุนที่กำหนด
- การติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) : รถยนต์ HEV ต้องติดตั้งระบบ ADAS อย่างน้อย 4 ระบบ จาก 6 ระบบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่
ในขณะที่ไทยกำลังเดินหน้าอย่างแข็งขัน รวมถึงรัฐบาลไทยได้ประกาศมาตรการสำคัญหลายด้านเพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก การสนับสนุนการใช้ HEV ก็กำลังเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน หลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนการใช้ HEV อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV เช่น
?? ยุโรป : หลายประเทศในสหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางภาษีและเงินอุดหนุน เช่น เยอรมนีมอบเงินอุดหนุนสูงสุดถึง 6,750 ยูโร สำหรับการซื้อรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอินในปี 2024 เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ที่ปล่อย CO2 ต่ำ
??ญี่ปุ่น : เป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีไฮบริด โดยในปี 2023 รถยนต์ HEV คิดเป็น 38% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด รัฐบาลยังให้เงินสนับสนุนและลดภาษีสำหรับรถยนต์ที่มีการปล่อย CO2 ต่ำ พร้อมสร้างเครือข่ายการชาร์จที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด
??สหรัฐอเมริกา : รัฐบาลสหรัฐฯ มอบเครดิตภาษีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการซื้อรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน และสนับสนุนการผลิตในประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดให้ได้ 50% ภายในปี 2030
HEV ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นก้าวสำคัญที่นำพาเราเข้าสู่ยุคใหม่ของยานยนต์ ด้วยการสนับสนุนจากบีโอไอที่มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมาตรการจูงใจต่างๆ ประเทศไทยก็พร้อมก้าวไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก” ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต