แม้เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเผชิญปัจจัยลบทั้งโควิดที่รุนแรงต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นำมาซึ่งราคาพลังงานกลุ่มฟอสซิลแพงเป็นประวัติการณ์ ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานเป็นหลัก จึงส่งผลต่อราคาสินค้าขยับขึ้นตาม กลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อ กระทบค่าครองชีพ กดดันเศรษฐกิจไทย
ล่าสุด สถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง โควิดคลี่คลาย ขณะที่พลังงานปรับตัวเสาะแสวงหาใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทน รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด และกำลังเทกออฟทีละนิดแล้ว การันตีโดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยช่วง 3 เดือนไตรมาสสุดท้าย 2565 (ตุลาคม-ธันวาคม) ดีขึ้นแน่นอน
แม้เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะเผชิญปัจจัยลบทั้งโควิดที่รุนแรงต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นำมาซึ่งราคาพลังงานกลุ่มฟอสซิลแพงเป็นประวัติการณ์ ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานเป็นหลัก จึงส่งผลต่อราคาสินค้าขยับขึ้นตาม กลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อ กระทบค่าครองชีพ กดดันเศรษฐกิจไทย
ล่าสุด สถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง โควิดคลี่คลาย ขณะที่พลังงานปรับตัวเสาะแสวงหาใช้เชื้อเพลิงสะอาดแทน รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุด และกำลังเทกออฟทีละนิดแล้ว การันตีโดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยช่วง 3 เดือนไตรมาสสุดท้าย 2565 (ตุลาคม-ธันวาคม) ดีขึ้นแน่นอน
“นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ระบุว่า เมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยได้ต้อนรับคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ นำโดย นายคิม เท โฮ รองประธานบริหารฝ่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า KOTRA (สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นคณะนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหญ่กว่า 40 ราย คณะแรกที่เดินทางเยือนไทยหลังเปิดประเทศ กิจกรรมมีทั้งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการลงทุน
โดยบีโอไอ สำนักงานอีอีซี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบรรยายให้ข้อมูล มีนักลงทุนไทยและเกาหลี รวมทั้งบริษัทเกาหลีใต้ในไทยเข้าร่วมงานกว่า 250 ราย นอกจากนี้ ยังได้พานักลงทุนเกาหลีเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่อีอีซีในการรองรับการลงทุนจากเกาหลี และยังเป็นพื้นที่ที่บีโอไอให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษด้วย
“นักลงทุนเกาหลีเดินทางเยือนต่างประเทศหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย โดยเลือกมาไทยเป็นประเทศแรก แสดงถึงการให้ความสำคัญและมองเห็นศักยภาพของประเทศไทย ในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนสำหรับเกาหลีในอนาคต เกาหลีเป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติรายสำคัญ เพราะมีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่ไทยต้องการส่งเสริม อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ” นฤตม์สรุป
เมื่อการลงทุนฟื้นตัวชัด หน่วยงานเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็อยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่รับการลงทุนเช่นกัน นอกจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ยังอยู่ระหว่างพัฒนานิคมสาหกรรมแนวดิ่ง หรือแนวสูง “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ. ขยายความถึงภารกิจจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแบบใหม่ หรือนิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง ว่า มีความคืบหน้าไปอีกขั้น จากเมื่อเร็วๆ นี้ กนอ.ได้ประชุมร่วมกับสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนานิคมดังกล่าว
โดยสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง เป็นอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในโครงสร้างอาคารหลายชั้น ตอบโจทย์ปัญหาพื้นที่ในเขตเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัด ตอบสนองความต้องการใช้พื้นที่ของผู้ประกอบการที่ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หลังการหารือกับผู้พัฒนานิคม มีข้อเสนอสำคัญๆ อาทิ ความหมายนิคมแนวดิ่งต้องชัดเจนแยกจากนิคมแนวราบ ไม่ควรจำกัดขนาดพื้นที่และความสูงอาคารโดยเป็นไปตามข้อกำหนดผังเมือง และขอให้นักลงทุนเป็นเจ้าของได้เช่นเดียวกับการจัดสรรที่ดินในนิคมที่ กนอ.กำกับดูแล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการอนุญาตให้ต่างชาติถือครองที่ดิน 49% จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม พบปัญหาอุปสรรคที่ทางผู้พัฒนา นิคมต้องการให้ กนอ.ช่วยสนับสนุน รวมทั้งขอให้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้
วีริศยืนยันว่า หลังจากนี้ กนอ.จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลต่อไป นิคมแนวดิ่ง ถือเป็นอีกกลไกสำคัญที่ตอบโจทย์การลงทุนตามเทรนด์โลก น่าติดตามว่านิคมจะเกิดขึ้นจริงในไทยได้หรือไม่ และน่าจะไม่นานเกินรอ
ข้อมูลจาก : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3609416