FAQ : Q&A by CSU : การทำลายส่วนสูญเสียนอกสูตร
Q1: กรณีบริษัทมีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้แล้ว ส่วนผสมนี้ประกอบไปด้วยวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ และซื้อในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่จะนำมาทำเป็นงานสำเร็จรูป ดังนั้นเมื่อบริษัทจะแจ้งผู้รับกำจัดมาขนวัตถุดิบเหล่านี้ออกไป บริษัทจะต้องขออนุมัติ BOI ด้วยหรือไม่
A.1: ตาม ประกาศ สกท ที่ ป.5/2543
(ข้อ 5.3) บริษัทต้องจัดเก็บส่วนสูญเสียหรือเศษซาก ที่เกิดจากวัตถุดิบที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 36 เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
(ข้อ 6) หลังจากที่ได้รับอนุมัติให้ทำลาย ส่งออก หรือบริจาคแล้ว จึงจะดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต แล้วจึงดำเนินการตัดบัญชีวัตถุดิบ
(ข้อ 9.3) เศษซากที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องชำระภาษีตามสภาพก่อน จึงจะดำเนินการตัดบัญชีได้
ดังนั้น การนำส่วนสูญเสียและเศษซากไปเก็บนอกสถานที่ บริษัทต้องได้รับอนุญาตจาก BOI ก่อน โดยเฉพาะเศษซากที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จะทำการตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีอากร หากสถานที่จัดเก็บไม่อยู่ในสถานประกอบการ และไม่ได้รับอนุญาตจาก BOI ก่อน จะเกิดปัญหาในส่วนนี้ด้วย
Q2: บริษัทสอบถามเพิ่มเติม หากส่วนสูญเสีย (นอกสูตร) ดังกล่าวข้างต้น เป็นทั้งแบบมีมูลค่าเชิงพาณิชย์และไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ หากบริษัทไม่ต้องการนำมาปรับยอดและตัดบัญชีวัตถุดิบ บริษัทจะต้องขออนุญาตจาก BOI หรือไม่
A2: กรณีที่สอบถามเพิ่มเติมนี้ การจะตัดบัญชีวัตถุดิบหรือปรับยอดวัตถุดิบหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นปัญหา เนื่องจากหากบริษัทไม่ตัดบัญชีหรือปรับยอดวัตถุดิบ จะมียอดค้างคงเหลือในบัญชีวัตถุดิบ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสิทธิมาตรา 36 จะมีภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า
แต่ประเด็นปัญหา คือ บริษัทมีการนำวัตถุดิบที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 36 ไปจำหน่ายจ่ายโอน ฯลฯ โดยไม่ได้ผลิตเป็นสินค้าและส่งออก หรือไม่ เพราะหากมี จะผิดเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ ดังนั้น เมื่อเกิดส่วนสูญเสียที่ไม่สามารถนำไปใช้ผลิตเพื่อส่งออก ต้องขออนุญาตจัดการส่วนสูญเสียนั้นให้ถูกต้องตามประกาศ BOI จากนั้นจึงจะจำหน่ายจ่ายโอนได้ หลังจากดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว บริษัทจะนำหลักฐานมาตัดบัญชีปรับยอดหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของบริษัท (หากดำเนินการถูกต้องแล้ว แต่ไม่ขอตัดบัญชีวัตถุดิบ ก็จะมียอดค้างคงเหลือในบัญชี และยังมีภาระภาษีค้างอยู่)